Lawrence, Thomas Edward; Lawrence of Arabia (1888-1935)

นายทอมัส เอดเวิร์ด ลอว์เรนซ์, ลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย (๒๔๓๑-๒๔๗๘)

​     ทอมัส เอดเวิร์ด ลอว์เรนซ์ เป็นนายทหารอังกฤษที่มีบทบาทเด่นในฐานะมิตรของฝ่ายอาหรับในการต่อสู้ระหว่างฝ่ายอาหรับกับจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman)* หรือตุรกีในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เขาได้รับฉายาว่า "ลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย" (Lawrence of Arabia) เนื่องจากอุทิศทั้งกำลังกายและใจให้แก่ฝ่ายอาหรับในเหตุการณ์ "การปฏิวัติของพวกอาหรับ" (Arab Revolt) โดยทำหน้าที่ประสานแผนการรบกับอังกฤษจนได้รับชัยชนะ เมื่อถูกจับได้และถูกทรมานก็ยังไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลแก่ฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้ เขายังใช้ชีวิตอย่างชาวอาหรับและชื่นชมในวัฒนธรรมอาหรับ ลอว์เรนซ์ยังเป็นนักผจญภัย นักโบราณคดี และนักประพันธ์เรืองนามโดยเขาใช้นามปากกาว่า ที. อี. ชอว์ (T. E. Shaw) งานเขียนที่เลื่องชื่อของเขาเรื่อง Seven Pillars of Wisdom เป็นทั้งหนังสืออัตชีวประวัติและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติของพวกอาหรับระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๖-๑๙๑๘
     ลอว์เรนซ์เกิดในครอบครัวที่มีฐานะเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๘๘ ที่เมืองทรีมาด็อก (Tremadoc) มณฑลไคร์นาร์ฟอนเชียร์ (Caernarfonshire) ทางตอนเหนือของเวลส์ (Wales) เซอร์ทอมัส รอเบิร์ต แชปมัน บารอนเน็ตที่ ๗ แห่งเวสต์มีท (Thomas Robert Chapman, 7th Baronet of Westmeath) ผู้บิดาเป็นเจ้าที่ดินในมณฑลมีท (Meath) ในไอร์แลนด์ซึ่งมีชีวิตสมรสครั้งแรกที่ ไร้ความสุขจึงทิ้งภริยาที่เจ้าอารมณ์และพาซารา แมดเดน (Sarah Madden) ครูของบุตรสาวไปใช้ชีวิตร่วมกัน ทั้งสองได้ตั้งรกรากอย่างถาวรที่เมืองออกซฟอร์ด อังกฤษ โดยใช้ชื่อว่านายและนางทอมัส ลอว์เรนซ์ มีบุตรชายร่วมกัน ๕ คน โดยลอว์เรนซ์เป็นบุตรคนที่ ๒ พี่น้องทั้ง ๕ คนของลอว์เรนซ์ศึกษาที่โรงเรียนมัธยมชายแห่งออกซฟอร์ด (City of Oxford High School) ซึ่งในเวลาต่อมาตึกเรียนหลังหนึ่งของโรงเรียนก็ได้ตั้งชื่อว่า "อาคารลอว์เรนซ์" เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ใน ค.ศ. ๑๘๙๘ ขณะอายุ ๑๐ ปีลอว์เรนซ์ได้รับรู้ความจริงว่าเขาเป็นบุตรนอกสมรสซึ่งทำให้เขาเสียใจมากและหนีออกจากบ้าน แต่ครอบครัวตามเขาพบในอีก ๓ สัปดาห์ต่อมา ความเจ็บปวดดังกล่าวทำให้ลอว์เรนซ์ห่างเหินจากบิดา ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ ลอว์เรนซ์ซึ่งสนใจเครื่องปั้นดินเผาโบราณมีโอกาสเข้าร่วมการจัดประชุมทางวิชาการของสมาคมโบราณคดีออกซฟอร์ด (Oxford Archaeological Association)

ความใฝ่รู้และความกระตือรือร้นของเขาสร้างความประทับใจอย่างมากแก่ ดี. จี. โฮการ์ท (D.G. Hogarth) นักโบราณคดีที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์แอชโมลีน (Ashmolean) ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับเขาเป็นศิษย์
     ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๐๗ ก่อนที่ลอว์เรนซ์จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและในช่วงปิดภาคการศึกษา ค.ศ. ๑๙๐๘ เขาปฏิบัติงานโบราณคดีภาคสนามในฝรั่งเศส โดยมีโฮการ์ทเป็นผู้ควบคุมดูแลลอว์เรนซ์เดินทางไปทั่วฝรั่งเศสด้วยรถจักรยานเพื่อวาดภาพลายเส้นและถ่ายภาพตลอดจนรวบรวมข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ของปราสาทเก่าในโครงการศึกษาสถาปัตยกรรมของปราสาทในสมัยสงครามครูเสด (Crusades ค.ศ. ๑๐๙๖-๑๒๙๑) ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๐๙ ลอว์เรนซ์มีโอกาสเดินทางไปตะวันออกกลางเป็นครั้งแรกและอยู่ตามลำพังเป็นเวลา ๓ เดือนเพื่อศึกษาปราสาทต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยสงครามครูเสด ที่ซีเรีย (Syria) เขาต้องเดินเท้าในการสำรวจเป็นระยะทาง ๑,๖๐๐ กิโลเมตร ประสบการณ์การศึกษาเชิงค้นคว้าและท่องเที่ยวครั้งนี้ทำให้เขาเข้าใจชาวพื้นเมืองตลอดจนประเพณีท้องถิ่น ทั้งสามารถใช้ภาษาสื่อสารได้ซึ่งเป็นพื้นฐานความรู้ที่สำคัญในอนาคตเมื่อเขามีโอกาสเดินทางกลับมายังดินแดนแถบนี้อีกครั้งในฐานะนักโบราณคดีและนายทหาร นอกจากนี้ยังเป็นข้อมูลในการเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง Influence of the Crusades on Military Architecture ที่ทำให้ผลงานของเขาได้รับการชมเชยอย่างมาก เขาสำเร็จการศึกษาสาขาประวัติศาสตร์ด้วยคะแนนเกียรตินิยมใน ค.ศ. ๑๙๑๐ วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๓๖ ได้ปรับปรุงและเผยแพร่เป็นหนังสือวิชาการในชื่อเรื่อง Crusader Castles
     หลังจากลอว์เรนซ์สำเร็จการศึกษา โฮการ์ทสนับสนุนให้เขาได้รับทุนและร่วมทำงานขุดค้นโบราณสถานสมัยฮิตไทต์ (Hittite) ที่เมืองคาร์คีมิช (Carchemish) ในเอเชียไมเนอร์ ลอว์เรนซ์ยังได้ร่วมงานกับเลนเนิร์ด วูลลีย์ (Leonard Woolley) นักบูรพาคดีที่มีชื่อเสียงและต่อมาทั้งสองได้กลายเป็นเพื่อนสนิทกันขณะที่ปฏิบัติการขุดค้นทางโบราณคดี ลอว์เรนซ์เริ่มเรียนภาษาอาหรับอย่างจริงจังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตให้เข้ากับขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอาหรับและผูกมิตรกับชาวอาหรับโดยทั่วไป ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๔ เขาและวูลลีย์เข้าร่วมงานกับหน่วยข่าวกรองของกองทัพอังกฤษเดินทางไปลาดตระเวนพื้นที่ทางตอนเหนือของทะเลทรายไซไน (Sinai) ลอว์เรนซ์ปลอมตัวเป็นนักสำรวจค้นคว้าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระหว่างเส้นทางสำรวจเขาได้จัดทำแผนที่ในทะเลทรายเนเกฟ (Negev) ซึ่งเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์สำคัญที่กองทัพตุรกีมักใช้ในการบุกโจมตีอียิปต์ รายงานการสำรวจที่พิมพ์เผยแพร่ในเวลาต่อมาไม่เพียงให้รายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีที่สำคัญเท่านั้นแต่ยังให้ข้อมูลทางแผนที่ที่ทันสมัยที่เน้นประโยชน์ทางการทหารเช่นแหล่งน้ำและที่หลบภัยเป็นต้น ในช่วงการเดินทางสำรวจครั้งนี้ ลอว์เรนซ์ได้ไปเยือนเมืองอากาบา (Aqaba) และเพตรา (Petra) ด้วย
     เมื่ออาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Archduke Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิอสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* และโซฟี โชเต็ก ดัชเชสแห่งโฮเฮนแบร์ก (Sophie Chotec, Duchess of Hohenberg) พระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ขณะเสด็จเยือนกรุงซาราเยโว (Sarajevo) นครหลวงของบอสเนียเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๔ ซึ่งเป็นชนวนเหตุของสงครามโลกครั้งที่ ๑ ระหว่างฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* กับฝ่ายสัมพันธมิตร ตุรกีสนับสนุนฝ่ายมหาอำนาจกลางและรบกับพวกอาหรับซึ่งสนับสนุนอังกฤษและก่อการเคลื่อนไหวต่อต้านตุรกี ลอว์เรนซ์ซึ่งคุ้นเคยกับพวกอาหรับจึงได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติภารกิจพิเศษในการรายงานความเคลื่อนไหวของพวกอาหรับชาตินิยม เขาถูกส่งไปประจำการหน่วยข่าวกรองกองทัพอังกฤษที่กรุงไคโร (Cairo) เมืองหลวงของอียิปต์ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ และต่อมาในเดือนธันวาคมก็ทำหน้าที่เป็นนายทหารข่าวติดต่อระหว่างกองทัพอังกฤษกับกองทัพอาหรับใต้การบัญชาการของเอมีร์ ไฟซาล (Emir Faisal) แห่งเมกกะ (Mecca) ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าไฟซาลที่ ๑ (Faisal I ค.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๓๓) แห่งอิรัก ลอว์เรนซ์กลายเป็นแกนนำทางความคิดของฝ่ายอาหรับในการจัดตั้งกองกำลังรบและวางแผนยุทธศาสตร์ เขาไม่เห็นด้วยกับกองทัพอังกฤษในการจะให้พวกอาหรับบุกขับไล่โจมตีกองทัพตุรกีที่มุ่งจะยึดครองเมืองเมดินา (Medina) ลอว์เรนซ์สามารถโน้มน้าวให้ฝ่ายอาหรับสกัดทัพตุรกีไว้ที่แนวป้อมทหารของเมือง และให้มุ่งทำลายเส้นทางรถไฟเฮจาซ (Hejaz) ซึ่งเป็นเส้นลำเลียงสำคัญระหว่างเมืองดามัสกัส (Damascus) ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาทางทหารของกองกำลังฝ่ายตุรกี-เยอรมันในตะวันออกกลางกับเมืองเมดินา ยุทธวิธีดังกล่าวทำให้กองทัพตุรกีต้องแบ่งกำลังมาปกป้องเส้นทางรถไฟ อีกทั้งยังต้องคอยซ่อมบำรุงเส้นทางที่ถูกทำลายจากฝ่ายอาหรับที่ใช้ยุทธวิธีกองโจรโจมตีอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายอาหรับจึงสามารถขยายเขตอิทธิพลขึ้นไปทางตอนเหนือได้ ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๗ ทั้งอังกฤษและอาหรับก็สามารถควบคุมพื้นที่ทางตอนใต้ตามเส้นทางรถไฟเฮจาซไว้ได้ และในเดือนสิงหาคมก็สามารถยึดเมืองท่าอากาบาทางตอนเหนือสุดของทะเลแดง โดยลอว์เรนซ์เป็นผู้นำของหน่วยกองโจรอาหรับเดินทัพข้ามทะเลทรายบุกเข้ายึดครองได้สำเร็จ
     หลังจากยึดเมืองท่าอากาบาได้ ฝ่ายอาหรับก็มุ่งขึ้นเหนือและมีชัยชนะอย่างต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในที่สุดสามารถยึดเมืองดามัสกัสได้ในเดือน ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ก่อนที่กองทัพอังกฤษจะเคลื่อนกำลังมาถึง ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ลอว์เรนซ์ได้เลื่อนยศเป็นพันโท ทั้งยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์บาท (Order of Bath) และเหรียญเชิดชูเกียรติได้แก่ Distinguished Service Order และ French Legion of Honour ในช่วงการใช้ชีวิตในสมรภูมิรบกับกองกำลังที่ไม่มีแบบแผน (irregular army) ของฝ่ายอาหรับนั้น แม้ลอว์เรนซ์จะถูกฝ่ายศัตรูจับกุมและทรมาน แต่ก็ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลแก่ฝ่ายตรงข้าม ในที่สุด เขาก็สามารถหนีรอดได้ ลอว์เรนซ์จึงเป็นที่ยกย่องในความกล้าหาญและเข้มแข็ง นอกจากนี้ เขายังประพฤติปฏิบัติเฉกเช่นชาวอาหรับและต่อมาได้เป็นสหายสนิทของไฟซาล ลอว์เรนซ์โดดเด่นและคุ้นตากันทั่วไปในชุดเสื้อคลุมสีขาวของชาวอาหรับบนหลังอูฐที่เดินทางไปทั่วทะเลทรายอันกว้างใหญ่ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายในวันวิวาห์ของไฟซาลที่มอบให้แก่เขา อันมีนัยถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งของคนทั้งสอง ส่วนชาวอาหรับทั่วไปต่างก็เคารพยกย่องเขาและทำให้สมญานามว่า "ลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย" เป็นที่รู้จักกันทั่วไป
     หลังการสูญเสียศูนย์บัญชาการที่เมืองดามัสกัสได้ไม่นาน ตุรกีก็ประกาศให้รางวัลค่าตัวจับเป็นลอว์เรนซ์เป็นเงิน ๒,๐๐๐ ปอนด์และ ๑,๐๐๐ ปอนด์หากจับตายในช่วงปลายสงคราม ลอว์เรนซ์เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษสนับสนุนการจัดตั้งรัฐเอกราชของพวกอาหรับเพื่อตอบแทนฝ่ายอาหรับที่รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับอังกฤษ และสนับสนุนข้อเรียกร้องของไฟซาลที่ต้องการให้เมืองดามัสกัสและซีเรียอยู่ในปกครองของฝ่ายอาหรับเพื่อเตรียมจัดตั้งเป็นรัฐเอกราช รัฐบาลอังกฤษแสดงท่าทีให้เห็นว่าพร้อมที่จะสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าว แต่ก็ปฏิเสธที่จะทำความตกลงที่ชัดเจนขณะเดียวกัน ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๘ วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ซึ่งยึดอำนาจการปกครองในรัสเซียได้ในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ได้ประกาศถอนตัวออกจากสงครามโลกที่กำลังดำเนินอยู่เลนินประกาศล้มเลิกความตกลงที่ทำกับฝ่ายประเทศพันธมิตรตะวันตกในการแบ่งดินแดนของจักรวรรดิออตโตมันทั้งยังเปิดเผยความตกลงไซกส์-ปีโก (Sykes- Picot Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงลับระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับรัฐบาลฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๙๑๖ ความตกลงดังกล่าวเป็นผลจากการเจรจาระหว่างบริตัน มาร์ก ไซกส์ (Briton Mark Sykes) นักการทูตชาวอังกฤษกับชอร์ช ปีโก (George Picot) นักการทูตฝรั่งเศสในการแบ่งเขตอิทธิพลระหว่างกันในการควบคุมพื้นที่ด้านเอเชียตะวันตกของจักรวรรดิออตโตมันหลังสงครามสิ้นสุดลง อังกฤษจะได้ควบคุมดินแดนที่ประกอบด้วยจอร์แดน อิรัก และบริเวณรอบ ๆ เมืองไฮฟา (Haifa) เพื่อเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลเมดิเตอเรเนียน ส่วนฝรั่งเศสจะได้ควบคุมดินแดนตอนใต้ของจักรวรรดิ ตอนเหนือของอิรัก ซีเรียและเลบานอน มหาอำนาจทั้งสองจะร่วมกันกำหนดเส้นเขตแดนภายในระหว่างดินแดนต่าง ๆ กันอีกครั้ง
     ความตกลงไซกส์-ปีโกทำให้ลอว์เรนซ์ไม่พอใจอย่างมากเพราะทำให้เขาเป็นเสมือนผู้หลอกลวงและหักหลังชาวอาหรับ ทั้งตระหนักว่าอังกฤษอาจเพิกเฉยความต้องการของฝ่ายอาหรับทันทีที่สงครามยุติลง นอกจากนี้ ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๗ อาเทอร์ เจมส์ บัลฟอร์ (Arthur James Balfour) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษยังประกาศปฏิญญาบัลฟอร์ (Balfour Declaration)* ให้ชาวยิวได้ครอบครองปาเลสไตน์ (Palestine) ซึ่งทำให้ทั้งลอว์เรนซ์และไฟซาลต่างไม่พอใจอย่างมาก ลอว์เรนซ์จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีสงคราม (war cabinet) อังกฤษทบทวนความตกลงลับฉบับ ค.ศ. ๑๙๑๖ นี้โดยให้ฝรั่งเศสได้เพียงเลบานอน ให้ไฟซาลปกครองซีเรียและพี่ชายปกครองอิรัก แต่รัฐบาลอังกฤษปฏิเสธที่จะพิจารณาข้อเสนอของลอว์เรนซ์ซึ่งสร้างความผิดหวังอย่างมากแก่เขา
     หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ลอว์เรนซ์เข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศและเป็นผู้แทนอังกฤษในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* โดยสังกัดในกลุ่มผู้แทนอาหรับของไฟซาล แต่ผลการประชุมสันติภาพก็สร้างความผิดหวังให้แก่ทั้งลอว์เรนซ์และไฟซาล เพราะในการประชุมที่ซานรีโม (San Remo Conference) ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๐ อังกฤษและฝรั่งเศสได้รับอาณัติ (mandate) ในการปกครองอิรักและซีเรียตามลำดับ ไฟซาลซึ่งขณะนั้นเพิ่งได้รับสถาปนาจากสภาแห่งชาติซีเรีย (Syrian National Congress) ให้เป็นกษัตริย์ (มีนาคม-กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๐) แห่งซีเรียใหญ่ (Greater Syria) ทรงปฏิเสธที่จะยอมรับความตกลงของที่ประชุมและขัดขืนการเข้ามามีอำนาจปกครองของฝรั่งเศส แต่กองกำลังของพระองค์พ่ายแพ้ต่อฝรั่งเศสในยุทธการที่เมย์ซาลัน (Battle of Maysalun) ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ พระเจ้าไฟซาลจึงถูกขับจากซีเรียและต้องเสด็จลี้ภัยในอังกฤษในเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมพยายามแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางและโดยเฉพาะในอิรักที่ประชาชนก่อความไม่สงบเพื่อต่อต้านผู้ปกครองใหม่เชอร์ชิลล์ซึ่งชื่นชมยกย่องลอว์เรนซ์มากจึงขอให้ลอว์เรนซ์มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของหน่วยงานด้านตะวันออกกลางเพื่อแก้ไขปัญหา ลอว์เรนซ์ได้มีส่วนช่วยให้พระเจ้าไฟซาลเป็นกษัตริย์แห่งอิรักและพระเชษฐาเป็นเอมีร์หรือเจ้าราชรัฐแห่งทรานส์จอร์แดน (Transjordan) ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ความสำเร็จดังกล่าวจึงมีส่วนช่วยปลดเปลื้องความรู้สึกผิดของลอว์เรนซ์ต่อพวกอาหรับและทำให้เขาสามารถคลายความกังวลใจลงได้
     ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ ลอว์เรนซ์เข้าทำงานเป็นช่างเครื่องในกองทัพอากาศ เขาปกปิดตนเองด้วยการเปลี่ยนชื่อเป็น เจ. เอช. รอส (J. H. Ross) แต่เมื่อมีการค้นพบว่าเขาเป็นใคร ลอว์เรนซ์จึงย้ายไปสังกัดหน่วยรถถัง (Tank Corps) ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ แต่ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ก็กลับมาสังกัดกองทัพอากาศอีกครั้งโดยทำหน้าที่ตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องมือ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๖-๑๙๒๘ ลอว์เรนซ์ไปประจำการที่ฐานทัพอังกฤษในอินเดียซึ่งมีฐานปฏิบัติการใกล้กับพรมแดนสหภาพโซเวียต เมื่อเกิดข่าวลือว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับงานจารกรรมซึ่งสร้างความบาดหมางระหว่างอังกฤษกับสหภาพโซเวียต เขาจึงถูกเรียกตัวกลับอังกฤษ ก่อนหน้านั้นเล็กน้อยใน ค.ศ. ๑๙๒๗ ลอว์เรนซ์ใช้ชื่อใหม่อย่างถาวรว่าทอมัส เอดเวิร์ด ชอว์ (Thomas Edward Shaw) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ที. อี. ชอว์ (T. E. Shaw) ในช่วงการทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบเครื่องบินทะเลที่มีประสิทธิภาพ ของกองทัพอากาศนั้น ลอว์เรนซ์ได้ซื้อที่ดินที่ชิงฟอร์ด (Chingford) และสร้างบ้านพักที่มีสระว่ายน้ำซึ่งเขามักหาโอกาสมาพักผ่อนเสมอ ๆ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๓๐ ที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืน ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ ลอว์เรนซ์ปลดประจำการ เขาปลีกตัวจากสังคมและใช้ชีวิตอิสระที่เคลาดส์ฮิลล์ (Clouds Hill) ใกล้เมืองมอร์ตัน (Moreton) มณฑลดอร์เซตเชียร์ (Dorsetshire)
     ลอว์เรนซ์เริ่มเขียนบันทึกประสบการณ์และความทรงจำเกี่ยวกับการผจญภัยในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๙ โดยปรับปรุงแก้ไขหลายครั้งและเขียนขึ้นใหม่จากความทรงจำเป็นส่วนใหญ่ เพราะข้อมูลส่วนใหญ่ที่เขาเคยจดบันทึกสูญหายเกือบหมด งานเขียนดังกล่าวตีพิมพ์ในชื่อ Seven Pillars of Wisdom ซึ่งต่อมากลายเป็นหนังสืออัตชีวประวัติเล่มสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ลอว์เรนซ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) นักเขียนบทละครที่เรืองนามซึ่งสนิทสนมกับลอว์เรนซ์ทำหน้าที่บรรณาธิกรต้นฉบับ หนังสือจัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๒๖ โดยมีจำนวนจำกัดเพียง ๑๐๐ เล่มเท่านั้น อีก ๙ ปีต่อมาในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๕ ก็จัดพิมพ์จำหน่ายทั่วไป เนื้อหาหนังสือประกอบด้วยการผจญภัยของลอว์เรนซ์และการร่วมมือกับกองกำลังอาหรับในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ ตลอดจนความผูกพันระหว่างลอว์เรนซ์กับเซลิม อาห์เม็ด (Selim Ahmed) เด็กชายชาวอาหรับวัย ๑๔ ปีที่เขารู้จักตั้งแต่เดินทางมาสำรวจขุดค้นด้านโบราณคดี ทั้งสองอาศัยอยู่ด้วยกันและลอว์เรนซ์เคยพาอาห์เม็ดมาเที่ยวที่อังกฤษด้วยในช่วงเวลาสั้น ๆ เมื่อสงครามเกิดขึ้นทั้งสองได้แยกทางกันและอาห์เม็ดเสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ด้วยไข้รากสาด ลอว์เรนซ์ เขียนอุทิศ Seven Pillars of Wisdom ให้อาห์เม็ดเพื่อเป็นอนุสรณ์ของความสัมพันธ์ซึ่งทำให้มีการตีความและตอกย้ำกันว่าลอว์เรนซ์มีความรักแบบเบี่ยงเบน
     ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ ลอว์เรนซ์ปรับเรื่อง Seven Pillars of Wisdom ให้กระชับขึ้นและเปลี่ยนชื่อเป็น Revolt in the Desert ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักอ่านอย่างล้นหลาม ภายในปีเดียวก็พิมพ์ซ้ำถึง ๔ ครั้งลอว์เรนซ์นำเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายหนังสือจัดตั้งเป็นกองทุนชื่อ Seven Pillars Trust โดยให้นำดอกผลของกองทุนจัดสรรเป็นเงินทุนการศึกษาให้แก่บุตรของทหารอากาศที่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ หรือเป็นเงินสงเคราะห์แก่ทหารอากาศที่ทุพลภาพจากการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งบริจาคให้กับกองทุนสงเคราะห์ทหารอากาศ (RAF Benevolent Fund) นอกจาก Seven Pillars of Wisdom และ Revolt in the Desert ซึ่งเป็นหนังสือขายดีที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เขาแล้ว ลอว์เรนซ์ยังใช้นามแฝงแปลหนังสือและเขียนหนังสืออัตชีวประวัติเกี่ยวกับชีวิตในกองทัพอากาศในชื่อเรื่อง The Mint ซึ่งพิมพ์เผยแพร่หลังมรณกรรมของเขา หนังสือก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักอ่านด้วย The Mint ซึ่งเขียนด้วยลีลาที่แตกต่างจากหนังสืออัตชีวประวัติเล่มแรกในเวลาต่อมายังได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ว่าใช้ภาษาที่สละสลวยกินใจและโดดเด่นเทียบเท่ากับนวนิยายสั้น (novelet) ของอะเล็กซานเดอร์ ซอลเจนิตชิน (Alexander Solzenitsyns) เรื่อง One Day in the Life of Ivan Denosovich ต่อมาศาสตราจารย์ เอ. ดับเบิลยู. ลอว์เรนซ์ (A. W. Lawrence) พี่ชายของลอว์เรนซ์ซึ่งเป็นผู้ดูแลค่าลิขสิทธิ์หนังสือของเขาและกองทุน ยังนำจดหมายและเอกสารส่วนตัวของลอว์เรนซ์มาบรรณาธิกรและจัดพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ T.E. Lawrence by his Friends
     หลังจากปลดประจำการในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ ลอว์เรนซ์มีชีวิตพักผ่อนเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง ๒ เดือนเท่านั้น เขาประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์พลิกคว่ำเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ถนนที่ลาดเททำให้เขามองไม่เห็นเด็กชาย ๒ คนที่กำลังขี่จักรยานผ่านมาและเมื่อพยายามหักหลบอย่างกะทันหัน รถจักรยานยนต์ซึ่งวิ่งมาด้วยความเร็วสูงก็เสียหลักพุ่งชนขอบทางอย่างแรงจนเขาถูกเหวี่ยงกระเด็นจากรถและบาดเจ็บสาหัส ลอว์เรนซ์อยู่ในอาการโคม่า ๖ วันและเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ ขณะอายุ ๔๖ ปี
     หลังลอว์เรนซ์เสียชีวิต มีการนำ Seven Pillars of Wisdom ฉบับสมบูรณ์จัดพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้างหนังสือทำให้ชื่อของลอว์เรนซ์เป็นที่กล่าวขานและรู้จักกันอย่างกว้างขวางในระดับนานาประเทศ ในทศวรรษ ๑๙๖๐ ฮอลลีวูดได้ดัดแปลงเนื้อหาหนังสือมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Lawrence of Arabia แสดงนำโดย ปีเตอร์ โอทูล (Peter O'Toole) นักแสดงที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างมากและมีส่วนสำคัญที่ทำให้ชีวิตของลอว์เรนซ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของตำนานการต่อสู้ของฝ่ายอาหรับในสงครามโลกครั้งที่ ๑.


เอมีร์เป็นคำเรียกนำหน้าชื่อที่ มีความหมายหลากหลาย ใช้เรียกเจ้าราชรัฐที่ เป็นประมุขหรือผู้ปกครองบางท้องถิ่นมกุฎราชกุมาร เจ้าชาย ผู้นำศาสนา หัวหน้ากลุ่มผู้บัญชาการกองทัพ และอื่นๆ

คำตั้ง
Lawrence, Thomas Edward; Lawrence of Arabia
คำเทียบ
นายทอมัส เอดเวิร์ด ลอว์เรนซ์, ลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย
คำสำคัญ
- ชอว์, จอร์จ เบอร์นาร์ด
- ดอร์เซตเชียร์, มณฑล
- รอส, เจ. เอช.
- ซอลเจนิตชิน, อะเล็กซานเดอร์
- ยุทธการที่เมย์ซาลัน
- ปฏิญญาบัลฟอร์
- บัลฟอร์, อาเทอร์ เจมส์
- ลอว์เรนซ์, ทอมัส เอดเวิร์ด
- ออตโตมัน, จักรวรรดิ
- ลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย
- ทรานส์จอร์แดน
- ไคร์นาร์วอนเชียร์, มณฑล
- แชปมัน, เซอร์ทอมัส รอเบิร์ต,บารอนเน็ตที่ ๗ แห่งเวสต์มีท
- ทรีมาด็อก, เมือง
- มีท, มณฑล
- แมดเดน, ซารา
- ชอว์, ที. อี.
- คาร์คีมิช, เมือง
- ไคโร, กรุง
- โฮการ์ท, ดี. จี.
- สงครามครูเสด
- โซฟี โชเต็ก ดัชเชสแห่งโฮเฮนแบร์ก
- ไซไน, ทะเลทราย
- เนเกฟ, ทะเลทราย
- ซาราเยโว, กรุง
- เพตรา
- ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์, อาร์ชดุ๊ก
- ไฟซาลที่ ๑, พระเจ้า
- มหาอำนาจกลาง
- ออสเตรีย-ฮังการี, จักรวรรดิ
- วูลลีย์, เลนเนิร์ด
- อากาบา, เมือง
- เอมีร์ไฟซาล
- ความตกลงไซกส์-ปีโก
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- มอร์ตัน , เมือง
- เลนิน, วลาดีมีร์
- ปีโก, ชอร์ช
- ไซกส์, บริตัน มาร์ก
- พรรคบอลเชวิค
- การประชุมที่ซานรีโม
- การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส
- คณะรัฐมนตรีสงคราม
- ชอว์, ทอมัส เอดเวิร์ด
- อาห์เม็ด, เซลิม
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- ลอว์เรนซ์, ศาสตราจารย์ เอ. ดับเบิลยู.
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1888-1935
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๓๑-๒๔๗๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf